นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งให้ทีมตรวจการกระทรวงฯ ตรวจสอบ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด ที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กจากเตาหลอม Induction Furnace หรือ เตา IFเพื่อตรวจติดตามเหล็กให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ จากการดำเนินการดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตรวจพบและยึดอายัดเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ได้ทั้งหมด 7,433 ตัน มูลค่ากว่า 148.67 ล้านบาท โดยเตรียมดำเนินคดีฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
อีกทั้งยังมีโทษความผิดฐานทำผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากยังโอนเปลี่ยนใบอนุญาตไม่แล้วเสร็จ ตามข้อมูลเชิงลึกที่ตรวจสอบมา
อย่างไรก็ดี ในการเข้าตรวจสอบ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเหล็กเส้นกลม 3 ขนาด คือ 6 มม. (มิลลิเมตร) 8 มม. และ 9 มม. เหล็กข้ออ้อย 3 ขนาด คือ 8 มม. 10 มม. และ 12 มม.
โดยผลการตรวจทดสอบพบว่า เหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม. และ 8 มม. ตกค่าโบรอน ซึ่งเป็นค่าที่ใช้วัดมาตรฐานเหล็ก ขณะที่เหล็กข้ออ้อยทั้ง 3 ขนาด ตกทั้งค่าโบรอน และ Yield ค่าแรงดึง จึงได้ยึดอายัดเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมดไว้
และดำเนินคดีโทษทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษฐานติดเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) บนผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจสอบพบว่า บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด อยู่ระหว่างการโอนย้ายใบอนุญาต มอก. ไปยังบริษัท เชาว์ สตีล แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งตามกฎหมาย ต้องทำการโอนย้ายใบอนุญาตให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงสามารถทำผลิตภัณฑ์ได้
แต่ทางบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด กลับอาศัยช่วงเปลี่ยนผ่านทำการผลิตเหล็กทั้งที่ได้แจ้งยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และใบอนุญาต มอก. เพื่อโอนให้กับ บริษัท เชาว์ สตีล แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 67
ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กรอ. และ สมอ. จึงถูกดำเนินคดีฐานทำผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสั่งให้หยุดการผลิตเหล็กเส้นทั้งหมด ซึ่งตามข้อมูลเบื้องต้นยังอาจเข้าข่ายคดีพิเศษ จึงจะเสนอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ